“มุ่งมั่นพัฒนาให้ได้มาตรฐาน บริหารงานให้ได้ผล จุดมุ่งหมายคือตำบล ประชาชนได้รับคุณค่า ในการพัฒนาที่ยั่งยืน”

สถานที่น่าสนใจ

          

                 


วัดไทร


                 วัดไทรมีหน้าบรรณวัดไทร ที่เป็นสถาปัตยกรรมของจีน มีช่อฟ้าหน้าบรรณเป็นแบบศาลเจ้า ด้านหน้าเป็นรูปมังกรสะดุ้งอยู่ในรัศมีวงกลมและรอบ ๆ วงกลมนั้นก็ประดับด้วยเครื่องลายคราม มีจาน ชาม ถ้วยสังคโลก ส่วนหน้าบรรณด้านหลังอุโบสถ เป็นรูป "เล่าโฮ้ว" เสืออยู่ในวงกลมเช่นกัน





เครื่องตั้งเถรอดเพล

           ประชากรในพื้นที่ของตำบลท่ากระชับในอดีต มีความรู้ความสามารถในการดำเนินชีวิตโดยใช้ความรู้แบบชาวบ้านที่เรียกกันว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่น   ซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงมีให้เห็นอยู่เสมอ อาจจะขาดหายไปบ้าง ด้วยความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน  ที่ยังคงอยู่ก็มี ตัวอย่างเช่น การสร้างที่อยู่อาศัยโดยใช้ไม้ไผ่ ก็จะนำไม้ไผ่มาแช่ไว้ในน้ำเพื่อกันแมลง  และรากฐานก็ใช้ไม้ทำเป็นเสาเข็มเช่นกัน ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สำคัญและเป็นมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบันได้แก่ เครื่องตั้งไม้ไผ่  หรือที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า  เครื่องตั้งวัดไทร เป็นโบราณวัตถุที่ใช้ตั้งศพและโกศ สร้างโดยหลวงตาโจ้ย   จ้อยสวัสดิ์ ขณะสร้างท่านมีอายุ 50 ปี ใช้เวลาสร้าง 8 ปี เครื่องมือมีมีด 1 เล่ม และกระดาษทราย โดยใช้ไม้ไผ่สีสุก (ไม้ไผ่บ้าน) และไม้ไผ่ลำมะลอก (ไม้ไผ่ไม่มีหนาม) ขนาดเท่านิ้วชี้ ขั้นตอนการทำคือเลือกไม้ไผ่แก่ ๆ นำมาเหลา แล้วนำไปแช่น้ำ 10 - 20 วัน ต่อมานำไปรมควันเพื่อกันมอดและปลวก นำมาเหลาควั่นและคอดให้เป็นรูปที่ต้องการ ใช้กระดาษทรายขัดให้ไม้เรียบ ทาน้ำมันยางผสมแก่นขนุนและพริกแห้งต้มเพื่อกันมอดแล้วนำมาประกอบเป็นเครื่องตั้ง       การประกอบไม้ใช้วิธีเถรอดเพล ซึ่งเป็นของเล่นเข้าไม้ โดยเอาไม้สี่เหลี่ยม 7 - 8 อัน มีร่องตรงกลางมาขัดกันไปมาให้สำเร็จเป็นรูปกากบาทที่มาของชื่อเถรอดเพล เพราะเถรต้องใช้ความพยายามในการประกอบไม้จนเลยเวลาเพล จึงเรียกว่า"เถรอดเพล" ส่วนที่เป็นช่องเล็ก ๆ ภายในเครื่องตั้ง มีหุ่นไม้และขวดปริศนา หุ่นไม้มี 2 แบบ คือหุ่นที่เคลื่อนไหวได้ และหุ่นที่เคลื่อนไหวไม่ได้ทาด้วยน้ำมันยางจนเป็นสีน้ำตาล เช่น คนพายเรือ หัวล้านชนกัน หุ่นกลองยาว ชุดสวดคฤหัสถ์ คนเล่นหมากรุก ชุดตีกระบี่กระบอง ชุดเสือเผ่น ส่วนหุ่นเคลื่อนไหวไม่ได้ทาด้วยสีเขียวและสีแดง หุ่นเป็นตัวละครในเรื่องจันทโครพดำเนินเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ และยังมีหุ่นรูปมัจฉานุในเรื่องรามเกียรติ์อีกด้วย       ขวดปริศนาหรือขวดแสนกลมี 7-8 ขวด มีขนาดเท่าขวดน้ำปลา ของที่ใส่ลงไป เช่น เสาธงไม้ ฝูงนกเกาะบนกิ่งไม้ ไพ่ซิกกาแรตใส่กรอบไม้ 8 รูป วิธีทำคือใส่ชิ้นไม้ที่เป็นส่วนประกอบลงในขวดแล้วใช้เหล็กก้านร่มเขี่ยประกอบส่วนต่างๆทีละชิ้นเข้าด้วยกันทุกชิ้นมีสลักเชื่อมกันได้และสามารถถอดออกและประกอบใหม่ได้

              เครื่องตั้งนับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านเพราะสามารถนำไม้นับพันท่อนมาสอดสลักอย่างพิสดาร โดยไม่ใช้ตะปูหรือเชือก การทำหุ่นชักก็ใช้วิธีร้อยเชือกและคำนวณแรงดึงในการชักหุ่นไว้อย่างละเอียด นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สูงค่า สมควรได้รับการยกย่องตลอดไป

แม่คุณยาย

                         ชุมชนในท้องถิ่นและท้องถิ่นใกล้เคียง มีความเชื่อและเคารพนับถือกันมาเป็นเวลานานและได้มีประวัติเล่าขานกันต่อ ๆ กันมาว่า  แม่คุณยายเป็นเจ้าเมืองทางภาคเหนือ เดิมชื่อศรีจันทร์     ท่านได้ต่อสู้และขับไล่พม่าออกจากกรุงศรีอยุธยา แล้วอพยพมาอยู่ที่วัดไทร  ตั้งแต่เมื่อสร้างวัดไทรใหม่ ๆ ท่านมีน้องชื่อสนธิ ได้อพยพมาอยู่ด้วยกัน   ความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน เล่าขานกันสืบต่อมาว่า ชาวบ้านวัดไทรเมื่อคลอดบุตร จะต้องนำขนมปลากริม 1 หม้อและเงิน 1 สลึง ไปถวายท่าน เพื่อให้ท่านช่วยปกป้องรักษาลูกที่เกิดมาไม่ให้อ้อน เจ็บป่วย หรือมีเหตุเภทภัยอันใดเกิดขึ้น ทุกครั้งที่มีงานวัด หากมีการแสดงมหรสพ จะต้องจุดธูปบอกกล่าวขออนุญาตแม่คุณยายเสียก่อน มิฉะนั้นจะเกิดเหตุขัดข้อง เช่น ไฟฟ้าดับ หรืออื่น ๆ จนไม่สามารถแสดงมหรสพได้ ถ้ามีลิเก จะต้องมีการรำถวาย ที่เรียกว่า "รำถวายมือ" ถ้ามีงานบวชเจ้าภาพจะต้องนำนาคไปลาก่อนอุปสมบท เด็กที่ร้องไห้งอแง หรือเจ็บป่วย เมื่อพ่อแม่จุดธูปบอกเล่าและยกเด็กให้เป็นลูกของแม่คุณยาย เด็กก็จะหยุดร้อง หรือหายจากการเจ็บป่วยอย่างน่าอัศจรรย์ รวมทั้งเด็กนักเรียนซึ่งมาเรียนที่โรงเรียนวัดไทร ถ้าร้องไห้งอแง พ่อแม่ก็จะมาจุดธูปบอกเล่าแม่คุณยายเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันเรื่อยมา สำหรับผู้ใหญ่หากมีเรื่องเดือดร้อนใจ ก็จะมากราบไหว้เพื่อให้ท่านช่วยเหลืออยู่เสมอ
                              เดิมแม่คุณยายสถิตอยู่ ณ เสมาอุโบสถวัดไทร ปัจจุบัน ร.ท.การุณ   เหมวนิช ได้สร้างตำหนักใหม่ถวายอยู่ใกล้กับอุโบสถวัดไทร และจัดสร้างรูปปั้นแม่คุณยายไว้ด้วย แม่คุณยายเป็นที่เคารพบูชาและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านวัดไทรและย่านใกล้เคียงเป็นอย่างมาก

ศาลพ่อปู่

                             ศาลตาปู่หรือที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า ศาลพ่อปู่ ตั้งอยู่บริเวณ หมู่ที่ 1 ต.ท่ากระชับ เป็นศาลที่คนในชุมชนให้ความเคารพสักการะมาโดยตลอด ทุกครั้งที่มีการบวชพระจะต้องนำนาคมาลาบวชอยู่เสมอ มีการทำบุญเป็นประจำทุกปี ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ จะแวะเวียนมาขอสิ่งต่าง ๆ ตามที่ได้ตั้งใจไว้ มีการแก้บน เมื่อสิ่งที่ขอประสบความสำเร็จ ศาลพ่อปู่จะชอบของเส้นไหว้จำพวกกัญชา ซึ่งเป็นสิ่งที่ท่านชอบ


ศาลยายตา

                              ศาลยายตา เป็นศาลที่ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่หมู่ที่ 1 บริเวณสามแยกชาวบ้านจะเรียกกันว่าแยกยายตา เล่าขานกันว่าสมัยกรุงสุโขทัย มียาย ตา คู่หนึ่งสร้างความดีจนมีคนเคารพนับถือมากมาย เป็นศาลที่คนในชุมชนให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก ถ้าจัดงานบวชก็ต้องนำนาคมาลา ถ้ามีงานแต่งงานคู่บ่าวสาวจะต้องมาบอกเล่าก่อน และถ้ามีบุตรจะนำขนมต้มมาเส้นไหว้ และนำรูปปั้นช้าง ม้า มาถวาย จะมีการจัดงานทำบุญอยู่เป็นประจำทุก ๆ ปี












ไม่มีความคิดเห็น: